เจาะปัญหาเฮลท์แคร์ตลาดเอเชียแปซิฟิก

31/01/2566
ที่มา MGR ONLINE ลงวันที่ 10 มกราคม 2566
         


            แคโรไลน์ คลาร์ค ประธานและรองประธานกรรมการบริหาร ฟิลิปส์ อาเซียน แปซิฟิก กล่าวว่า “เพื่อการเข้าถึงและใช้งานข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อบุคลากรทางการแพทย์ในการยกระดับคุณภาพการให้บริการ ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มความรวดเร็วในการรักษา หลังจากที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รายงานในปีนี้แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จัดอยู่ในกลุ่มผู้นำที่ให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ความท้าทายที่สำคัญคือ เนื่องจากการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยังขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการสนับสนุนจากบุคลากร การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลยังต้องคำนึงถึงขีดความสามารถของบุคลากร ดังนั้น ปัญหาด้านการจัดการข้อมูล Data Silo การฝึกอบรมและให้ความรู้แก่บุคลากรจึงเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาอย่างเร่งด่วน รวมถึงการรักษาบุคลากรด้านเฮลท์แคร์เอาไว้ เพื่อบรรลุผลลัพธ์ของระบบสาธารณสุขที่ต้องการในระดับภูมิภาค”ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคือผู้นำด้านข้อมูลสารสนเทศ เทคโนโลยี AI และการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้า ผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจัดอยู่ในอันดับต้นของโลกที่ให้ความสำคัญด้านข้อมูลสารสนเทศต่อองค์กร โดยร้อยละ 82 เห็นด้วยว่าการลงทุนในด้านข้อมูลสารสนเทศมีความคุ้มค่า ทั้งในแง่ของเวลาและทรัพยากร เท่ากับสถิติของสหรัฐอเมริกา และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก (ร้อยละ 65) และทวีปยุโรป (ร้อยละ 60) อย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสาธารณสุขของสิงคโปร์ที่นำหน้าประเทศอื่นๆ ให้ความสำคัญด้านข้อมูลสารสนเทศถึงร้อยละ 91 ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ร้อยละ 65 ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซียและออสเตรเลียให้ความสำคัญต่อด้านข้อมูลสารสนเทศถึงร้อยละ 82 และร้อยละ 75 ตามลำดับ ระดับความเชื่อมั่นในการใช้ข้อมูลสารสนเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นสูงเช่นกัน โดยส่วนมากกล่าวว่าพวกเขาสามารถนำข้อมูลมาใช้งานได้จริงจากข้อมูลที่มีอยู่ถึงร้อยละ 85 และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้ถึงร้อยละ 84 และเชื่อมั่นอย่างมากในความแม่นยำของข้อมูลในองค์กรถึงร้อยละ 82 ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเห็นพ้องต้องกันถึงความสำคัญของการลงทุนด้านเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีการวิเคราะห์แนวโน้มล่วงหน้าภายใน 3 ปี โดยร้อยละ 55 ของผู้บริหารและบุคลากรแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ได้ลงทุนไปแล้วจำนวนมากในเทคโนโลยี AI ในขณะที่ร้อยละ 82 คาดการณ์ว่าการลงทุนด้าน AI จะเป็นการลงทุนมากที่สุดภายใน 3 ปีข้างหน้า และเมื่อสำรวจถึงจุดประสงค์ของการลงทุนด้านเทคโนโลยี AI พบว่าลงทุนเพื่อใช้สนับสนุนการวินิจฉัยด้านคลินิกมากที่สุดถึงร้อยละ 35 รวมถึงการใช้งานเพื่อวินิจฉัยหรือให้คำแนะนำในการรักษา การส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า การตรวจหาโรคแบบอัตโนมัติ และแนวทางการตัดสินใจด้านคลินิก นอกจากนี้ ยังต้องการใช้เทคโนโลยี AI ในการคาดการณ์ผลลัพธ์ถึงร้อยละ 34 และใช้เพื่อรวบรวมข้อมูลการวินิจฉัยร้อยละ 33 ตามลำดับ ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ โดยเริ่มมีการพูดถึงในวงกว้างตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมา และมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในวงการแพทย์อย่างแพร่หลาย กระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอนโยบายเกี่ยวกับ ‘โครงการอนาคตแห่งประเทศไทยสู่การดูแลสุขภาพแบบองค์รวมและการดูแลสุขภาพขั้นสูงในปี (The future of Thailand towards holistic wellness care and advanced health promotion) พ.ศ. 2566-2570’1 ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ซึ่งให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยี AI การคาดการณ์โรคล่วงหน้า (Health Prediction) และเทคโนโลยีด้านดิจิทัล ที่จะถูกกำหนดให้เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานของการบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคขั้นสูง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบบริการและการเข้าถึงบริการของประชาชนในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรค ด้วยเทคโนโลยีด้านการแพทย์และสาธารณสุขแบบจำเพาะและแม่นยำ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังตั้งเป้าพัฒนาโรงพยาบาลและสถานบริการด้านสาธารณสุขต่างๆ สู่การเป็น ‘Smart Hospital’ เพื่อลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ และยกระดับประสบการณ์การรักษาที่ดีให้แก่ผู้ป่วย โดยจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขในไตรมาส 4 ปี พ.ศ. 2564 พบว่ามากกว่าร้อยละ 45 ของหน่วยบริการทั้งหมดได้พัฒนาไปสู่การเป็น Smart Hospital แล้ว
 
Page view : 0