คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ. 2563 - 2567)

09/01/2563
          ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย (พ.ศ. 2563 - 2567) (ซึ่งต่อไปจะเรียกว่าแผนฯ) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ เมื่อวันอังคารที่ 26 มีนาคม 2562 โดยจัดสรรงบประมาณ รวม 4,570 ล้านบาท สำหรับระยะเวลา 5 ปี โดยอนุมัติให้สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนแผนฯ และ สธ. เป็นหน่วยงานหลัก ซึ่งแผนฯ นี้เกี่ยวข้องกับการนำข้อมูลพันธุกรรมมนุษย์มาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์และสาธารณสุข และมีเป้าหมายเพื่อการบูรณาการการใช้ข้อมูลพันธุกรรมในด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สธ. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์และสาธารณสุขแก่ประชาชน โดยในอนาคตการแพทย์จีโนมิกส์จะมีบทบาทในการทำให้ประชากรมีสุขภาพที่ดีตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์จนกระทั่งเสียชีวิต เนื่องจากร้อยละ 30 ของโรคในมนุษย์เกิดจากปัจจัยทางพันธุกรรม ร้อยละ 5 – 10 ของโรคมะเร็งเกิดจากปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรม ซึ่งการถอดรหัสพันธุกรรมอาจจะทำให้ทราบว่า เซลล์มะเร็งของผู้ป่วยตอบสนองต่อยาชนิดใดได้ดี นอกจากนี้ การถอดรหัสพันธุกรรมยังทำเพื่อการตรวจเพื่อคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมทารกในครรภ์ การตรวจพันธุกรรมเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง โรคไม่ติดต่อ โรคติดเชื้อ หรือการป้องกันการแพ้ยา และหากในอนาคตสามารถถอดรหัสพันธุกรรมในราคาหลักพัน ระบบสุขภาพไทยมีความพร้อม และมีข้อมูลระดับประเทศในเรื่องมะเร็งครอบครัว ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็อาจบรรจุให้ประชากรไทยมีสิทธิตรวจรหัสพันธุกรรมในอนาคต

Page view : 298