ประกาศศลช. เรื่อง การรับข้อเสนอโครงการด้านการแพทย์และสุขภาพ (แผนงานกลุ่มสารสกัด และผลิตภัณฑ์สมุนไพร) ประจำปีงบประมาณ 2567-2568

04/06/2024
S__75563096-(1).jpg
 

1. หลักการและเหตุผล
          ตามแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม พ.ศ. 2566 - 2570 ที่มีการกำหนดและกำกับทิศทางในการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการนำวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในการเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืน มีศักยภาพในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และให้มีความพร้อมในการรองรับความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญคือ การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม
         ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานบริหารและจัดการทุนวิจัย (Program Management Unit: PMU) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 โดยใช้กลไกบริหารงบประมาณวิจัย จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านการแพทย์และสุขภาพ  เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการส่งเสริมนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพช่วงปลายน้ำ โดยสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technology Readiness Level: TRL) 7-9 และการพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ที่ส่งเสริมให้เกิดธุรกิจอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ระดับ TRL 5-9 รวมถึงการผลักดันผลงานวิจัยนวัตกรรมและบริการไปสู่การใช้ประโยชน์และเกิดเป็นธุรกิจได้จริง ต่อมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ศลช. ได้รับมอบหมายเพิ่มเติมให้สนับสนุนโครงการด้านการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพไปใช้ประโยชน์ (Research Utilization: RU) ซึ่งจะมุ่งเน้นการผลักดันให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพ ให้สามารถขยายการผลิต การลงทุน นำไปสู่การขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการผลักดันเชิงนโยบาย และสังคมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับคนไทย โดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ได้วางกรอบแนวคิดในการสนับสนุน 3 ด้าน คือ ด้านนโยบาย ด้านพาณิชย์ และด้านสังคม/ชุมชนและพื้นที่ ในส่วนของการขับเคลื่อนเพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ได้มีการออกพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ที่ปลดล็อคเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินทางปัญญาของหน่วยงานให้ทุน รวมถึงผลักดันให้มีการเร่งรัดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น 
          ดังนั้น ศลช. จึงได้จัดทำการประกาศรับข้อเสนอโครงการด้านการแพทย์และสุขภาพ ประกอบด้วยโครงการ 2 ประเภท คือ Non-Research Utilization (Non-RU) เพื่อขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์/บริการระดับปลายน้ำ TRL 7-9 ให้มีความพร้อมเข้าสู่การใช้งานจริง รวมถึง การพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem) ระดับ TRL 5-9 ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดธุรกิจอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์และช่วยผลักดันให้ผลงานวิจัยนวัตกรรมและบริการไปสู่การใช้ประโยชน์ เกิดเป็นธุรกิจได้จริง และ Research Utilization (RU) การขับเคลื่อนผลงานวิจัยนวัตกรรมและบริการ ในด้านนโยบาย พาณิชย์ และสังคม/ชุมชนและพื้นที่ ที่พร้อมใช้งานไปสู่การใช้ประโยชน์
 
2. วัตถุประสงค์ 
         เพื่อสนับสนุนการต่อยอดและขยายผลงานนวัตกรรมทางการแพทย์และสุขภาพของไทยไปใช้ประโยชน์ทางพาณิชย์ และสังคม รวมถึงการผลักดันเชิงนโยบาย ตามเป้าหมายและผลลัพธ์ของแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) พ.ศ. 2566-2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 (S1) การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัย และนวัตกรรม

3. กรอบการสนับสนุนโครงการ
          ยุทธศาสตร์ที่ 1 (S1): การพัฒนาเศรษฐกิจไทยด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่าและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ให้มีความสามารถในการแข่งขัน และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมสู่อนาคต โดยใช้วิทยาศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรม
          แผนงาน P1 (S1): พัฒนาระบบเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG) ในด้านการแพทย์และสุขภาพ ให้เป็นระบบเศรษฐกิจมูลค่าสูง มีความยั่งยืนและเพิ่มรายได้ของประเทศ
          เป้าหมายของแผนงาน O1 P1: ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสำคัญของอาเซียนสำหรับวัคซีน ยา สารสกัดสมุนไพร และ วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์และบรรจุภัณฑ์ขั้นสูง รวมถึงผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง (ATMPs) รวมถึงชีววัตถุ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการนำเข้า และสามารถส่งออกได้ โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
          แผนงานย่อย N2 (S1P1): การพัฒนาและผลิตยา สารสกัดจากสมุนไพร ที่มีคุณภาพและได้รับการรับรองมาตรฐาน

แผนงานย่อยรายประเด็น :
1. [Non-RU] ยกระดับมาตรฐานนวัตกรรมการผลิตสารสกัดสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อเข้าสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (Key Results) ระดับผลลัพธ์

ขอบเขตงานที่สนับสนุน

KR5 P1: มูลค่าการขายยา สารสกัดสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร
ที่พัฒนาและผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยการใช้ผลงานวิจัย
องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (1,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2566 - 2570)

1. สนับสนุนการจัดทำแนวทางการขึ้นทะเบียน
สารสกัดธรรมชาติ/สมุนไพรในประเทศ และต่างประเทศ
เพื่อยกระดับการผลิตตามมาตรฐานสากล

2. สนับสนุนการวิจัยในระดับคลินิกเพื่อเตรียมการ
ขึ้นทะเบียนหรือขึ้นทะเบียน สารสกัด ยาพัฒนาจากสมุนไพร
หรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร* หรือ การวิจัยเพื่อยกระดับการผลิตตามมาตรฐานสากล เช่น GMP เป็นต้น

2. [RU] การเร่งรัดขับเคลื่อนนวัตกรรมการผลิตสารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพรให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อการเข้าตลาดและขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญ (Key Results) ระดับผลลัพธ์

ขอบเขตงานที่สนับสนุน

KR5 P1: มูลค่าการขายยา สารสกัดสมุนไพร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่พัฒนาและผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยการใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (1,000 ล้านบาท ในช่วงปี 2566 - 2570)

1. สนับสนุนกลุ่มนวัตกรรมสารสกัดสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง* ที่ขี้นทะเบียนแล้วหรือได้รับการรับรองมาตรฐาน (เช่น ทะเบียน อย. หรือเทียบเท่า) ในการทดสอบตลาดหรือทดสอบ Market Validation ให้มีความพร้อมในการวางจำหน่ายและออกสู่ตลาดได้

2. ยกระดับกลุ่มนวัตกรรมสารสกัดสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง*ที่ขี้นทะเบียนแล้วหรือได้รับการรับรองมาตรฐาน (เช่น ทะเบียน อย. หรือเทียบเท่า)
ให้สามารถขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ 

3. สนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบาย/มาตรการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสมุนไพร สู่การปฏิบัติใช้จริง

4. สนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมสมุนไพรไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เป้าหมาย หรือขยายพื้นที่การทดสอบ หรือเกิดการนำไปปฏิบัติจริง 
 

หมายเหตุ: *ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ประกอบด้วย 2 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 คือ ผลิตภัณฑ์ตามคำนิยามของพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ได้แก่ ยาจากสมุนไพรที่วิจัยพัฒนา (ข.3) ยาจากสมุนไพรใหม่ (ข.4) ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพที่อ้างอิงความรู้ทางวิทยาศาสตร์ (ค.3) และ เวชสำอางสมุนไพร (ค.4) 

กลุ่มที่ 2 คือ โภชนเภสัชภัณฑ์ (Nutraceuticals) และ เครื่องสำอางที่มีผลทดสอบทางคลินิกตามมาตรฐานสากลโดยมีนวัตกรรมโดดเด่นที่พัฒนาจากสารสกัดธรรมชาติ/สมุนไพร 

ผู้ประสานงาน
1. น.ส. พัทธมน  ธาราพรรค์  โทรศัพท์: 0 2644 5499 ต่อ 220 อีเมล: pattamon@tcels.or.th
2. น.ส. จิราพรรณ  น้ำสา  โทรศัพท์: 0 2644 5499 ต่อ 217 อีเมล: jiraphan@tcels.or.th

 

4. ระยะเวลาการสนับสนุนโครงการ
          ระยะเวลาการสนับสนุนโครงการ 1 ปี หากเป็นโครงการต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี ต้องแสดงให้เห็นเป้าหมายสุดท้าย (End goal) และมีเส้นทางไปถึงเป้าหมายรายปี (milestone) แสดงไว้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของ ศลช.

5. คุณสมบัติของผู้ขอรับการสนับสนุนโครงการและเงื่อนไข
          โปรดศึกษารายละเอียดตามคู่มือการสนับสนุนโครงการฯ

6. การพิจารณาข้อเสนอโครงการ
           ศลช. จัดให้มีการประเมินและพิจารณาโครงการโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งจะมีการกำหนดเกณฑ์การพิจารณาให้คะแนนที่คำนึงถึงวัตถุประสงค์หลักและผลประโยชน์ของการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมด้านการแพทย์และสุขภาพเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ผลการพิจารณาของ ศลช. ถือเป็นที่สิ้นสุด

7. การยื่นข้อเสนอโครงการ
         7.1 ผู้ขอรับการสนับสนุนโครงการจัดทำข้อเสนอโครงการ โดยใช้แบบฟอร์มข้อเสนอโครงการ ของ ศลช. ตามประเภทข้อเสนอโครงการ (Non-RU หรือ RU) โดยสามารถดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ www.tcels.or.th
         7.2 ผู้ขอรับการสนับสนุนโครงการยื่นข้อเสนอโครงการตามประเภทข้อเสนอโครงการ (Non-RU หรือ RU) ผ่านระบบ NRIIS เว็บไซต์ www.nriis.go.th ตามชื่อแผนงานย่อยรายประเด็น และกรอกข้อมูลในแบบข้อเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์ตามรูปแบบที่ ศลช. กำหนด พร้อมทั้งแนบเอกสารในรูปแบบไฟล์ word และ pdf. ในระบบ NRIIS 

8. กำหนดการที่สำคัญ
         8.1 เปิดรับข้อเสนอโครงการ ตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 เวลา 17.00 น. 
         8.2 ประกาศผลการพิจารณาข้อเสนอโครงการ ภายในเดือนธันวาคม 2567 โดย ศลช. จะประกาศผลการคัดเลือกทางเว็บไซต์ ศลช. www.tcels.or.th เท่านั้น
หมายเหตุ: กำหนดการอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม

9. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
          ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)
ที่อยู่: เลขที่ 252 อาคารเอสพีอี ทาวเวอร์ ชั้น 9 ถนนพหลโยธิน แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กทม. 10400
โทรศัพท์: 0 2644 5499 อีเมล: pmu@tcels.or.th, saraban@tcels.or.th 
เว็บไซต์: www.tcels.or.th
 

>>>> ดาวน์โหลด คู่มือและแบบฟอร์มโครงการ แผนงานสมุนไพร <<<<

 

 

Page view : 513